Hot News
June 2010 การรับประทานอาหารแบบสากล 1
การรับประทานอาหารแบบสากล 1
การเชิญแขกมารับประทานอาหารเป็นประเพณีที่มีอยู่ในเกือบทุกอารยธรรม นอกจากจะเป็นการแสดงออกถึงมีอัธยาศัยไมตรีแล้วยังถือว่าเป็นการให้เกียรติด้วย ในอดีตเป็นเครื่องหมายของการประกาศและการเฉลิมฉลองกิจกรรมที่
สำคัญ ในบางโอกาสการปฏิเสธงานเลี้ยงอาหารถือเป็นการดูถูกดูหมิ่นเจ้าภาพหรือผู้เป็นเจ้าของบ้าน บางกรณีถึงกับกลายเป็นชนวนเหตุของสงครามก็เคยปรากฏมาแล้ว การแบ่งปันกันกินเป็นเครื่องแสดงออกของความเป็นมิตร ใน
ภาษาอังกฤษคำว่า "Companion" แปลว่าเพื่อน โดยความหมายที่แท้จริงแล้วแปลว่า "ผู้ร่วมกินขนมปัง" ชาวยุโรปในประวัติศาสตร์ยุคแรกๆนั้นยังชีพด้วยขนมปังซึ่งเป็นอาหารหลักเพียงอย่างเดียว สะท้อนให้เห็นถึงความลึกซึ้งของนัย
ของความหมายคำว่า "เพื่อน" ที่พัฒนามาจากคำว่า "ผู้แบ่งปันกันกิน" ได้เป็นอย่างดี คำว่า"Companion" ยังคงใช้กันอยู่ในบัตรเชิญรับประทานอาหารในปัจจุบันด้วยที่มาของความหมายตามนัยดังกล่าว
มารยาทในการรับประทานอาหารที่ถือเป็นมาตรฐานสากลมีที่มาจากประเทศแถบยุโรป และเป็นที่ยอมรับมาปฏิบัติกันทั่วไปในอารยประเทศซึ่งถือว่าเป็นเรื่องละเอียดอ่อนประณีตที่เราทุกคนต้องเรียนรู้เพื่อที่จะได้ปฏิบัติได้อย่างถูกต้อง
ไม่ต้องระมัดระวังจนตัวเกร็งหรือมีความรู้สึกว่าต้องไปนั่งทนทุกข์ทรมานภาวนาว่าเมื่อไรงานเลี้ยงจะเลิก มารยาททั้งปวงนั้นต้องอาศัยการเรียนรู้และฝึกฝนอยู่บ่อยๆจะเกิดความเคยชินและไม่รู้สึกเขิน แม้ว่าในปัจจุบันกฎหรือระเบียบและ
มารยาทโบราณได้ถูกละทิ้งไปมากแล้ว แต่ยังคงมีมารยาทที่จำเป็นเหลืออยู่ให้ต้องปฏิบัติตามอีกมากมาย การไปร่วมงานเลี้ยงนั้น วิธีที่ดีที่สุดคือ หมั่นสังเกตคนอื่นรอบ ๆ ตัวเรา และคอยสังเกตตนเองอยู่เสมอว่า ตัวเราทำอะไรผิดแผก
แตกต่างจากคนอื่นหรือเปล่า ทั้งนี้เพื่อเราจะได้ไม่กลายเป็นตัวตลกไปโดยไม่รู้ตัว
งานเลี้ยงรับรองมีอยู่หลายประเภทหลายรูปแบบ แต่ทุกงานมีจุดมุ่งหมายเหมือนกันคือให้ความสำราญแก่แขก ต่างฝ่ายต่างได้รับเกียรติจากกันและกัน แต่การเลี้ยงของชาวต่างประเทศมีวัตถุประสงค์ที่ต่างกันตามขนาดความสำคัญ แบบ
พิธีและความเหมาะสมแก่สถานการณ์และโอกาส ในบรรดางานเลี้ยงรับรองทั้งหลายนั้น งานเลี้ยงอาหารค่ำเป็นงานที่มีความสำคัญ ประณีตและถือเป็นเกียรติสูงสุดสำหรับผู้รับเชิญเป็นแขก
การเลี้ยงอาหารค่ำแบบนั่งโต๊ะ
การเลี้ยงอาหารค่ำแบบนั่งโต๊ะ เป็นงานที่ถือว่าให้เกียรติและแสดงอัธยาศัยที่น่าพึงพอใจมากที่สุดเพราะเจ้าภาพมีโอกาสรับรองแขกได้มากมายหลายวิธีภายในระยะเวลาที่ยาวนานกว่าการเลี้ยงด้วยวิธีอื่น แขกที่มาร่วมงานก็ได้สนทนา
ปราศรัยได้อย่างเต็มที่ไม่ต้องรีบร้อน งานเลี้ยงอาหารค่ำอาจจัดได้เป็นงานเลี้ยงแบบเป็นทางการ (formal) และแบบไม่เป็นทางการ (informal) เจ้าภาพอาจมีคนเดียวหรือเป็นคู่ อาหารและการบริการอาจแตกต่างกันไปตามงานแต่ละ
งาน แต่จะมีมาตรฐานที่จะต้องปฏิบัติไม่มากน้อยกว่ากันเท่าใดนัก ถือได้ว่าเป็นการเลี้ยงรับรองที่มีวิธีการ อุปกรณ์ แบบพิธีและมารยาทสูงกว่าการเลี้ยงรับรองแบบอื่นๆทั้งหมด สิ่งสำคัญที่จำเป็นต้องทราบสำหรับการจัดเลี้ยงและการไป
ในงานเลี้ยงอาหารค่ำมีดังนี้
เวลา ปรกติอาหารค่ำจะเริ่มเข้านั่งโต๊ะระหว่างเวลา 20.00-21.00 น. บัตรเชิญจะระบุเวลาที่แขกจะต้องมาถึงงานราวครึ่งชั่วโมงล่วงหน้า เช่น ระบุว่าเวลา 20.00 น. สำหรับการเลี้ยงจะเริ่มเข้านั่งโต๊ะเวลา 20.30 น. ถ้าระบุเวลาเริ่มเข้านั่ง
โต๊ะไว้ชัดเจนแล้ว แขกควรมาถึงงานอย่างช้าที่สุด 10 นาทีก่อนเวลานั่งโต๊ะ ถ้ามาถึงงานช้ากว่าเวลาที่เข้านั่งโต๊ะถือว่าเป็นการทำผิด เพราะจะก่อความยุ่งยากให้แก่เจ้าภาพ หากมาช้ามากจนเริ่มรับประทานอาหารจานแรกแล้ว โดยไม่
ได้มีเหตุสุดวิสัยจริงๆก็ไม่ควรเข้าในงานเลย
จำนวนแขก จำนวนแขกขึ้นอยู่กับความต้องการของเจ้าภาพและขนาดของสถานที่จัดงาน การเลือกเชิญแขกที่มาร่วมงานเป็นเรื่องสำคัญ จำนวนแขกและลักษณะของแขกย่อมทำให้แขกทุกคนมีคู่สนทนาที่เหมาะสม หากมีผู้ร่วมโต๊ะไม่
เกิน 6 คน เจ้าภาพควรนั่งหัวโต๊ะ แต่ถ้าเกินกว่า 6 คน เจ้าภาพควรนั่งกลางโต๊ะ งานเลี้ยงที่เป็นแบบเป็นทางการต้องมีผู้ร่วมโต๊ะไม่น้อยกว่า 16 คน ซึ่งเป็นจำนวนน้อยที่สุดที่เป็นมาตรฐานสำหรับการจัดงาน
การเชิญ การเชิญสำหรับงานเลี้ยงอาหารค่ำอาจทำเป็นหนังสือเชิญ ส่งบัตรเชิญหรือโทรศัพท์ ถ้าเชิญทางโทรศัพท์ต้องส่งบัตร "To Remind" ตามไปทันที บัตรเชิญที่เป็นแบบพิมพ์จะต้องเขียนชื่อผู้ได้รับเชิญด้วยลายมือเสมอ และ
ถือว่างานเลี้ยงที่ออกบัตรเชิญเป็นงานที่เป็นแบบพิธีอยู่แล้ว แต่ถ้าประสงค์จะให้แขกแต่งกาย "Black Tie" ก็จะต้องระบุลงไปให้ชัดเจน มิฉะนั้นแขกอาจจะแต่งกาย "Dark Suit" มาร่วมงานได้ ควรส่งบัตรเชิญล่วงหน้าประมาณ3 สัปดาห์
หรือไม่น้อยกว่า 10 วัน เพื่อจะได้มีเวลาให้แขกตอบรับและเชิญแขกเพิ่มหากจำเป็น ส่วนแขกเมื่อได้รับเชิญไปร่วมงานเลี้ยงอาหารค่ำ ต้องตอบทันทีไม่ว่าจะรับหรือปฏิเสธ และเมื่อตอบรับแล้วจะบอกเลิกได้ต่อเมื่อมีเหตุขัดข้องที่สำคัญ
เกิดขึ้นเท่านั้น ในบัตรเชิญอาจจะเขียนไว้ที่มุมด้านซ้ายว่าให้แต่งกายอย่างไร มุมด้านขวาอาจจะเขียนว่าจะให้ตอบอย่างไร เช่น เขียนว่า R.S.V.P. เป็นต้น ซึ่งผู้รับเชิญต้องตอบในเวลาอันสมควรว่าจะไปร่วมงานได้หรือไม่ หากเขียน
ว่า "Regrets Only" หมายความว่าให้ตอบกลับในกรณีที่ไปร่วมงานไม่ได้เท่านั้น ดังนั้นหากไม่ตอบกลับเจ้าภาพจะคาดหวังว่าสามารถร่วมงานได้
อักษรย่อที่ใช้ในการเขียนนามบัตรหรือบัตรเชิญ
เพื่อขอบคุณ P.R. = Pour Remercier
เพื่ออวยพรหรือแสดงความยินดี P.F. = Pour Fête (Féliciter)
เพื่อแสดงความรู้จัก P.F.C. = Pour Faire Connaissence
เพื่ออวยพรปีใหม่ P.F.N.A. = Pour Fête du Nouvel An
เพื่อลา P.P.C. = Pour Prendre Conge
เพื่อแสดงความเสียใจ P.C. = Pour Condoleance
เพื่อแนะนำตนเอง P.P. = Pour Presentation
ท้ายบัตรเชิญ ใช้คำว่า
กรุณาตอบด้วย R.S.V.P. = Repondez S'il Vous Plaît
ขัดข้องโปรดตอบ = Regrets Only
อักษรย่อเหล่านี้ให้เขียนด้วยดินสอดำที่มุมล่างด้านซ้ายของบัตร แต่นิยมเขียนด้วยปากกาลูกลื่นด้วยเหมือนกันถือเป็นการอนุโลม
การเข้าห้องรับประทานอาหาร เจ้าภาพหญิงจะเป็นผู้เดินนำเข้าไป เจ้าภาพชายเข้าห้องรับประทานอาหารเป็นคนสุดท้าย ในบางครั้งเจ้าภาพหญิงอาจยืนอยู่ในห้องรับประทานอาหารเลยประตูทางเข้าเล็กน้อย และชี้เชิญให้แขกทราบ
ถึงที่นั่งของตน แต่ตามปกติเจ้าภาพหญิงมักจะเข้าไปยืนอยู่หลังที่นั่งของตน แล้วบอกให้ไปทางซ้ายมือหรือทางขวามือของโต๊ะและตำแหน่งที่นั่งของแขกแต่ละคน โดยแขกผู้ชายมีหน้าที่เลื่อนเก้าอี้ให้แก่สุภาพสตรีที่อยู่ทางขวามือ
ของตน
ที่มา
http://gotoknow.org/blog/arnon/78665