1. Skip to Menu
  2. Skip to Content
  3. Skip to Footer>

August 2013 ASEAN National Emblems

ตราแผ่นดินของประเทศในกลุ่มอาเซียน

National Emblems in ASEAN Countries


ประเทศไทย

Thailand

 

                      ตราแผ่นดินของประเทศไทยนั้นเป็นตราพระราชลัญจกรที่มีชื่อว่า พระครุฑพ่าห์ หรือ ครุฑ สัญลักษณ์ครุฑนั้นเริ่มใช้อย่างเป็นทางการเมื่อปีพุทธศักราช 2454 (1911) โดยพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาวชิราวุธฯ พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ทรงเริ่มใช้ตราครุฑในการตราเอกสารส่วนพระมหากษัตริย์และในงานราชการ นอกจากนี้ตราครุฑยังใช้ประดับธงของพระราชวงศ์อีกด้วย

          ตราครุฑนั้นได้มีการนำมาใช้เป็นสัญลักษณ์ในพระมหากษัตริย์ เพื่อดำรงซึ่งพระบารมีและพระราชอำนาจขององค์กษัตริย์ และรัฐบาลของประเทศ โดยมีความเชื่อมาแต่ครั้งโบราณกาลที่ว่า พระมหากษัตริย์นั้นเป็นสมมติเทพ ทรงเป็นพระนารายณ์อวตาร จุติลงมาเป็นกษัตริย์



ประเทศมาเลเซีย

Malaysia

 

ตราแผ่นดินของประเทศมาเลเซียนั้นเริ่มใช้ในปีพุทธศักราช 2508 (1965) ตราสัญลักษณ์นี้ประกอบด้วยภาพสัญลักษณ์สำคัญของประเทศมาเลเซียคือ โล่ ซึ่งมีเสือคำราม 2 ตัว อยู่ด้านข้างของโล่คอยพิทักษ์รักษาโล่สำคัญนี้ ด้านบนของโล่นั้นมีรูปดาวสิบสี่แฉกซึ่งลอยอยู่ในวงพระจันทร์เสี้ยว สำหรับด้านล่างของตราสัญลักษณ์นี้ มีแถบผ้ายาวซึ่งปรากฏคติพจน์ที่มีความหมายว่า ความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันคือความแข็งแกร่ง ตราสัญลักษณ์นี้ใช้ในเอกสารของทางราชการและยังปรากฏบนธงของรัฐ




ประเทศฟิลิปปินส์

Philippines

 

ตราสัญลักษณ์ของประเทศฟิลิปปินส์นั้นได้เริ่มใช้ครั้งแรกในปีพุทธศักราช 2489 (1946) ซึ่งตรานี้ประกอบไปด้วย ดวงอาทิตย์ที่มีรัศมีแปดแฉก แต่ละแฉกเป็นตัวแทนของแต่ละจังหวัดของฟิลิปปินส์ ด้านบนของตราสัญลักษณ์มีดาวห้าแฉกจำนวน 3 ดวงซึ่งแสดงถึงลักษณะทางภูมิศาสตร์ของประเทศ แถบสีน้ำเงินนั้นมีรูปนกอินทรี อันเป็นสัญลักษณ์ของประเทศสหรัฐอเมริกาและแถบสีแดงมีรูปราชสีห์ โดยทั้งสองแถบสีนั้นแสดงถึงประวัติศาสตร์การเป็นอาณานิคมของฟิลิปปินส์ แถบล่างของตราสัญลักษณ์มีชื่อประเทศฟิลิปปินส์ปรากฏอยู่


 

ประเทศสิงคโปร์
Singapore

            ตราสัญลักษณ์ของประเทศสิงคโปร์นั้นได้เริ่มใช้ครั้งแรกในปีพุทธศักราช 2502 (1959) ตรงกลางของตราสัญลักษณ์นี้มีโล่สีแดง โดยมีดาวสีขาวห้าดวงวางเรียงเป็นวงอยู่บนพระจันทร์เสี้ยวสีขาว ด้านข้างของโล่สีแดงมีรูปเสือขนาบทางด้านขวาและมีรูปสิงโตขนาบทางด้านซ้าย เพื่อแสดงให้เป็นถึงความสัมพันธ์ในประวัติศาสตร์ที่สิงคโปร์มีต่อมาเลเซีย แถบผ้าสีน้ำเงินด้านล่างตรามีข้อความว่า "ความเจริญก้าวหน้าของสิงคโปร์" ซึ่งเขียนด้วยภาษามาเลย์ ตราสัญลักษณ์ของประเทศสิงคโปร์จะใช้ในงานราชการของประเทศเท่านั้น



ประเทศบรูไนดารุสซาลาม

Brunei Darussalam

 

 

            ตราสัญลักษณ์ประจำชาติของประเทศบรูไนดารุสซาลาม เริ่มใช้ครั้งแรกในปีพุทธศักราช 2483 (1940) โดยใช้เป็นสัญลักษณ์ของราชวงศ์ สัญลักษณ์นั้นประกอบด้วยริ้วธง, ฉัตร, ปีก (การปกป้องคุ้มครองประชารัฐโดยความยุติธรรม, ความสงบร่มเย็น, ความเจริญรุ่งเรืองและความสงบสุข) รูปมือ (หน้าที่ของรัฐบาลเพื่อประชาชน) และรูปพระจันทร์เสี้ยว (สัญลักษณ์ของศาสนาอิสลาม) พร้อมทั้งคำขวัญในภาษาอาหรับที่มีความหมายว่า การรับใช้ตามคำชี้แนะของพระเจ้า ด้านล่างของตราสัญลักษณ์นี้คือแถบผ้าที่มีคำภาษาอาหรับแปลได้ว่า บรูไนดารุสซาลามหรือบรูไน ที่พักพิงแห่งสันติ ตราสัญลักษณ์นี้ใช้โดยพระบรมวงศานุวงศ์และรัฐบาล และยังนำประดับบนธงประจำชาติอีกด้วย



ประเทศลาว

Lao PDR



                       ตราสัญลักษณ์ประจำชาติของประเทศลาว เริ่มใช้ครั้งแรกในปีพุทธศักราช 2535 (1992) สัญลักษณ์ได้มีการแก้ไขโดยเพิ่มคำบรรยายภาษาลาวสั้นๆ ลงในแถบสีแดงด้านล่าง โดยมีข้อความว่า สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว และเพิ่มวงล้อเฟืองเข้าในภาพอีกครึ่งวง ทั้งสองข้างของตราสัญลักษณ์เป็นรวงข้าวมัดกันเป็นรูปทรงโค้ง ในแถบสีแดงมีคำจารึกเป็นภาษาลาวซึ่งมีความหมายว่า ความสงบ, อิสรภาพ, ประชาธิปไตย, ความเป็นหนึ่งเดียว, ความเจริญรุ่งเรือง ระหว่างรวงข้าวนี้มีรูปพระธาตุหลวง ส่วนองค์ประกอบอื่นคือ ถนน ทุ่งรวงข้าว ป่าไม้ และเขื่อนไฟฟ้านั้นจัดเรียงอยู่ตรงใจกลางของตราสัญลักษณ์



ประเทศกัมพูชา

 Cambodia

 

            ตราแผ่นดินที่กัมพูชาใช้ในปัจจุบันนั้น เริ่มใช้ครั้งแรกในปีพุทธศักราช 2536 (1993) เป็นสัญลักษณ์แสดงถึงพระราชลัญจกรประจำรัชกาลในรัชสมัยของพระมหากษัตริย์ประเทศกัมพูชา บนตราสัญลักษณ์มีสัตว์มงคลอยู่สองตัวคือ คชสีห์อยู่ทางซ้ายและราชสีห์อยู่ทางขวา โดยสัตว์มงคลทั้งสองตัวนั้นยกฉัตรห้าชั้นซึ่งเปรียบเสมือนพระมหากษัตริย์และพระมหาราชินี ตรงกลางของตราสัญลักษณ์มีมงกุฎประดับยอดเพชรที่ส่องประกายแวววาว ส่วนสีฟ้าที่อยู่ภายใต้มงกุฎนั้นเป็นตราสัญลักษณ์อุณาโลม อยู่บนดาบศักดิ์สิทธิ์ซึ่งดาบนั้นมีพานสีทองสองชั้นเป็นฐานรองรับ แถบผ้าสีน้ำเงินเข้มด้านล่างมีข้อความภาษาเขมรว่า พระมหากษัตริย์ของราชอาณาจักรกัมพูชา





ประเทศอินโดนีเซีย

Indonesia

 

            ตราสัญลักษณ์ของประเทศอินโดนีเซียที่ใช้ในปัจจุบันนั้น มีชื่อเรียกว่า ครุฑปัญจศีล เริ่มใช้ครั้งแรกในปีพุทธศักราช 2493 (1950) ตราสัญลักษณ์นี้มีตัวครุฑใหญ่เด่นชัด โดยมีรูปโล่อยู่ตรงกลางลำตัว บนโล่เป็นรูปสัญลักษณ์ตัวแทนความหมายทั้งห้าของปัญจศีล ซึ่งเป็นปรัชญาแห่งรัฐของอินโดนีเซีย ด้านล่างมีแถบผ้าขาวที่ครุฑใช้ขาทั้งสองข้างจับไว้บนนั้นมีข้อความที่ว่า ความเป็นหนึ่งเดียวบนความหลากหลาย


 

                                                                           ประเทศพม่า
                                                                            Myanmar

 

  

            ตราสัญลักษณ์ของประเทศพม่า เริ่มใช้ตั้งแต่ในปีพุทธศักราช 2551 (2008) บนตรานี้ประกอบด้วยรูปราชสีห์ในตำนานสองตัวหันหน้าออกทางด้านข้าง ตรงกลางของตรามีรูปแผนที่ประเทศพม่าและล้อมด้วยช่อดอกไม้ในลักษณะการออกแบบของชาติพม่า โดยตรานี้ประดับดวงดาวสีทองห้าแฉกไว้ด้านบนสุด แถบสีเหลืองด้านล่างนั้นมีข้อความเป็นภาษาพม่าว่า สหภาพพม่า  


 

ประเทศเวียดนาม

Vietnam

 

  

ตราสัญลักษณ์ของประเทศเวียดนามเริ่มใช้ครั้งแรกในปีพุทธศักราช 2519 (1976) ตราสัญลักษณ์นี้มีรูปร่างเป็นทรงกลมบนพื้นสีแดง โดยมีดาวห้าแฉกสีเหลืองลอยเด่นอยู่ตรงกลางเพื่อแสดงถึงพรรคคอมมิวนิสต์แห่งสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม การปฏิวัติทางประวัติศาสตร์และอนาคตที่รุ่งเรืองของประเทศ สัญลักษณ์เฟืองล้อและช่อรวงข้าวที่ล้อมตรานั้น แสดงถึงการร่วมมือร่วมใจของแรงงานในภาคเกษตรกรรมและอุตสาหกรรม 

 

 

 

References:

http://en.wikipedia.org

http://th.wikipedia.org

http://www.google.co.th/imghp?hl=th&tab=wi

http://www.chiangraifocus.com

http://worldnews.about.com

united luxury shop